วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

"ทำไมไทยถึงไม่มีแบรนด์รถเป็นของตัวเอง" คำถามคาใจที่คนไทยอยากได้คำตอบ...!!

ทุกวันนี้ตลาดรถยนต์ถือว่าเป็นตลาดที่เติบโต และแข่งขันกันสูงมาก ซึ่งก็มีรถมากมายหลายรุ่นให้เลือกจับจองกันเป็นเจ้าของ รวมถึงในประเทศไทยก็เช่นกัน “ยี่ห้อ” ก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้คนไทยตัดสินใจซื้อ เพราะถือว่าเป็นค่านิยมที่สั่งสมกันมานานตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น บางคนรับรู้จนเป็นการยึดติดกับยี่ห้อ ที่ฝังอยู่ในหัวคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแบบไม่เปิดใจมองรถค่ายอื่นเลย...!!


การที่จะซื้อรถสักคนนั้นไม่ใช่จะคิดแค่วันสองวัน เพราะเราต้องอยู่กับมันไปเป็นปีๆ ดังนั้นก็ต้องมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ Service การบริการหลังการขาย เมื่อเราซื้อรถไปแล้วจะดูแลเอาใจใส่เราดีไหม ยามรถเกิดปัญหาจะสามารถพึ่งพาได้หรือเปล่า เรื่องอะไหร่จะรอนานหรือไม่ กี่วัน เดือน หรือปี รวมถึงเมื่ออยากเปลี่ยนรถคันใหม่ในอนาคต ก่อนซื้อก็ต้องหันไปคบกับรถตลาด เพราะเกรงว่าเมื่อยามขายต่อราคาจะตก แต่ก็ต้องใช้ ถึงแม้มันไม่ได้ตอบโจทย์ของเรามากนักก็ตามนี่ก็เป็นอีกส่วนที่ต้องยกข้อดีให้กับค่ายเจ้าตลาดไปโดยปริยาย

แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนเริ่มศึกษาเรื่องยานยนต์มากขึ้น และกล้าที่จะเปิดใจกับยี่ห้ออื่น ประกอบกับในยุคดิจิทอลแบบนี้ ก็สามารถติดตามข่าวสารได้หลากหลายช่องทาง ทั้งยังมีสื่อมวลชนได้ไปทดลองขับรถรุ่นนั้นๆ และบอกข้อดี ข้อด้อยออกมาทำให้เราเข้าใจ และมีความรู้เพิ่มมากขึ้น หลายๆคนจึงไม่ค่อยจะยึดติดกับแบรนด์แล้ว (หันไปดื่มสก็อตแทน...เอ้ย!!ไม่ใช่)


อย่างที่รู้กันว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มีรถยนต์หลากหลายรุ่นหลายยี่ห้อที่มีการทำตลาดในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง หรือรถกระบะ ซึ่งรถกระบะถือว่าเป็นรถที่คู่กับคนไทยมานมนาน และอย่างน้อย หลายๆบ้านต้องมีประดับไว้สักคันแหละ เพราะเปรียบได้ว่าเป็นรถทำเงิน ชื่อก็บอกแล้วว่ากระบะ สามารถบรรทุกของไปเหนือล่องใต้ โดยสารไปเที่ยวกันก็ไปได้สบายๆ เรียกได้ว่าไปไหนไปกัน ลุยไหนลุยกันจริงๆ

ประเทศไทยในปัจจุบันนั้นได้การยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อันดับ 9 ของโลก ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่แห่เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยความเจริญเติบโตของตลาดรถยนต์ ประกอบกับฝีมือคนไทยในการประกอบรถมีความละเอียดเรียบร้อยและเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งในอาเซียน จึงทำให้มีผู้ผลิตเข้ามาลงทุนที่บ้านเราอยู่เรื่อยๆ และแน่นอนว่าทั้งชีวิตนี้จะไปไหนก็เจอแต่รถ รถ รถ ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน มิตซูฯ มาสด้าฟอร์ด และอื่นๆอีกมากมาย มันเลยทำให้คนไทยหลายคนมีคำถามเดียวกัน ที่ถามด้วยความหวัง และอยากให้มันเกิดขึ้นจริง คำถามนั้นคือ “เมื่อไหร่ ประเทศไทยจะมีรถเป็นของตัวเองสักที” คำถามนี้ผมเคยคิดตอน ม.1 ที่พึ่งกำลังศึกษาเรื่องรถใหม่ๆ ด้วยความที่เห็นค่ายรถยนต์มากมายทั้งจากฝั่งยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น หรือรถยนต์ค่าย TATA จากอินเดีย หรือแม้กระทั่งรถยนต์ค่าย Proton จากประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย มันยิ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ประเทศเพื่อนบ้านเรายังมีเลย แล้วไทยล่ะ?? เป็นทั้งฐานการผลิตของรถยนต์ส่งออกให้หลายค่ายหลายประเทศ และมีความสามารถศักยภาพพอทั้งในเรื่องนักคิดวิเคราะห์ ออกแบบ รวมถึงแรงงานฝีมือที่ไม่น้อยหน้าใคร ก็น่าจะทำได้ แต่ “ทำไมไม่มี??” นั่นคือความคิดเมื่อเด็ก และเชื่อว่าหลายท่านก็เคยคิดแบบนั้น


บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ถือว่าเป็นบริษัทของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจ รถไทยรุ่งเป็นที่รู้จักของคนไทยมาอย่างช้านาน และจวบจนถึงทุกวันนี้ก็เกือบ 50 ปี ที่ดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ทว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถครองใจคนไทยและเลือกซื้อรถได้อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้ไทยรุ่งนั้นกลับไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็นแต่ปัจจุบันก็ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เนื่องด้วยการทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างครบวงจรตั้งแต่การออกแบบ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแม่พิมพ์และอุปกรณ์การผลิต การผลิตชิ้นส่วนโลหะและพลาสติก การรับจ้างประกอบ พ่นสี และการนำรถมาดัดแปลงเป็นของตัวเอง ได้พัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าเป็นรถโดยคนไทย แต่ด้วยการสร้างที่นำรถรุ่นอื่นในตลาดมาดัดแปลงให้มีรูปร่างหน้าตาใหม่ มันก็เหมือนเอารถคนอื่นมาขายในชื่อของตัวเองเท่านั้น ทำให้คนไทยหลายคนคิดว่ามันไม่ใช่รถโดยคนไทยอย่างแท้จริง (แค่ได้ยินคำว่า “ดัดแปลง” คนส่วนใหญ่ก็เมินหน้าหนีแล้ว!!)




และคำถามมันก็ยังติดอยู่ในหัว “เมื่อไหร่ ประเทศไทยจะมีรถเป็นของตัวเองสักที” จะบอกตรงนี้เลยนะครับว่า “เมื่อไหร่ก็ไม่รู้เหมือนกัน” และถ้าถามอีกว่าคนไทยสามารถสร้างรถได้เองหรือไม่ ตอบอย่างไม่ลังเล “สร้างได้ครับ” แต่การสร้างรถหนึ่งรุ่นเพื่อการจำหน่ายไม่ได้ใช้เงินทุนน้อยๆ และการลงทุนตั้งต้นบริษัทรถยนต์ขึ้นมาสักบริษัทนั้นก็ต้องใช้ความสามารถเช่นเดียวกับการตลาดที่เฉียบคม ซึ่งเมื่อมามองถึงความเป็นจริงของสภาวะการแข่งขันในตลาดปัจจุบันแล้ว เราจะเห็นได้ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่รถยนต์คนไทยจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหากขาดแรงสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ ยกตัวอย่างค่าย โปรตอน จากมาเลเซียซึ่งทางรัฐบาลนั้นได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และเอาจริงเอาจัง รวมทั้งยังมีการลดภาษีการนำเข้ารถยนต์เหลือเพียง 5% เท่านั้น ทำให้รถต่างประเทศสามารถขายได้ถูกลงในมาเลเซีย จึงมีตัวเลือกให้ประชาชนมากขึ้น บวกกับคนมาเลเซียเองก็นิยมใช้รถของชาติตัวเองด้วย Proton จึงสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคง

และถ้าสมมุติว่าประเทศไทยมีรถเป็นของตัวเองแล้วจริงๆ ถามว่าจะมีคนซื้อไหม ตอบเลย “มี แต่น้อย เพราะจะมีสักกี่คนที่กล้าควักกระเป๋าตังค์จ่าย” ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังมีนิสัยติดแบรนด์กันอยู่ พูดง่ายๆคือ ยังไม่มีความเชื่อถือ เชื่อมั่นในสินค้าของชาติตนเอง ย่อมเห็นของชาติอื่นดีกว่า อย่างเช่น สินค้า OTOP ของไทยๆ เทียบกับของนอกจากญี่ปุ่น หรือจากอเมริกา ,ฝรั่งเศส คุณจะเลือกอันไหน ถ้าตอบตามความจริงแบบไม่ได้แสแสร้งเอาหน้า หลายๆท่านก็ต้องเลือกสินค้าจากนอกอยู่แล้วซึ่งมองว่าเป็นของที่มีคุณภาพกว่า ถึงมันจะแพงก็เถอะ มันเป็นความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากว่า ถ้าทำรถออกมา แต่คนในประเทศไม่อุดหนุน ไม่ใช้ในสินค้าของตัวเอง สิ่งที่ลงทุนมาทั้งหมดก็เจ๊ง ไปต่อไม่ได้...!!


รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์(พีไอเอ็ม) เปิดเผยว่า ทุกวันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเติบโตมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน แต่การผลิตแรงงานและวิศวกรยานยนต์ก็มีปัญหาเรื่องของความต้องการใช้งานขององค์กรธุรกิจ คือ ผลิตออกไปแล้วยังต้องไปฝึกงานอีกหลายปี และพอฝึกงานเป็นแล้วก็มักเลือกไปทำงานอื่นที่ให้ข้อเสนอที่ดีกว่า บ่อยครั้งที่วิศวกรไทยส่วนใหญ่หลุดจากวงการไปเลย ซึ่งส่วนมากจะเลือกเรียนต่อและทำงานด้านบริหารธุรกิจ นอกจากนี้หากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว คนเก่งก็อาจถ่ายเทไปที่อื่นหากได้รับแรงจูงใจที่ดีกว่า หรือบางส่วนอาจถ่ายเทเข้ามา ดังนั้นสิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมคือเรื่องของคน ซึ่งจะต้องเร่งผลิตไล่ให้ทันทั้งในเชิงปริมาณและเน้นคุณภาพด้วย

"ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายอยากเห็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปถึงขั้นผลิตรถยนต์ในประเทศได้เองนั้น ตนมองว่าเรื่องนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นอย่าไปฝันเลย เพราะทุกวันนี้ค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่บางค่ายยังต้องอาศัยการสร้างพันธมิตรระหว่างกัน ดังนั้นการมีแบรนด์เป็นของไทยเองหรือไม่จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขณะที่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในปัจจุบัน ก็เหมือนได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากหลายประเทศไปในตัว" รศ.ดร.สมภพ กล่าว

แต่ถึงกระนั้นเอง อย่างน้อยๆเมื่อเรามองย้อนกลับไปในอดีต เชื่อว่าหลายคนยังไม่ทราบว่าประเทศไทยก็เคยมีรถเป็นของตัวเองแล้วเหมือนกัน!!

โดยมีคนเขียนบทความนี้เมื่อประมาณปี 2007 “ย้อนไปราวๆปี 1992-1994 ได้มีนักธุรกิจจากกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มารวมตัวกันเพื่อผลิตรถกระบะขนาดหนึ่งตันภายชื่อ บริษัท สยาม วี.เอ็ม.ซี.ยานยนต์ จำกัด ภายใต้โลโก้ V.M.C ใช้สัญลักษณ์เป็นวงกลมและมีตัว M อยู่ตรงกลางต่อมาในปี 1995 รถกระบะของไทยนาม V.M.C ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ



โดยมีมิติ ยาว 4,870 ม.ม. / กว้าง 1,690 ม.ม. / สูง 1,608 ม.ม. / ความยาวฐานล้อ 2,950 ม.ม. / ความกว้างล้อหน้า 1,395 ม.ม.และหลัง 1,385 ม.ม. / ระยะต่ำสุด 200 ม.ม. / น้ำหนักรถ 1,400 กก / น้ำหนักบรรทุกรวม 2,700 กก.

เครื่องยนต์ ดีเซลรุ่น VM425SLTRS แบบ 4 สูบ Turbocharger ขนาด 2498cc. กำลังสูงสุด 117 แรงม้า ที่ 4200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24 กก-ม.ที่ 2,200 รอบ/นาที ความกว้างกระบอกสูบ 92 ม.ม. ระยะชัก 94 ม.ม อัตราส่วนกำลังอัด 22:1 ความเร็วสูงสุด 173 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบส่งกำลัง คลัทช์แบบแห้งแผ่นเดียวทำงานด้วยไฮโดรลิค /ระบบเกียร์ธรรมดา 5 สปีด

อัตราทดเกียร์
1=3.54
2=1.96
3=1.36
4=1.00
5=0.79
R=3.21

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบดับเบิลวิชโบนทอร์ชั่นบาร์ ด้านหลังแบบเพลาแข็ง แหนบ ระบบเบรคหน้าเป็นดิสค์เบรคหลังดรัมเบรก ยางขนาด 195R 14 C-8 PR



แต่เนื่องจากความรีบร้อนในการเปิดตัวจึงทำให้มีจุดพกพร่องค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของตัวถังที่ประกอบไม่ค่อยเรียบร้อยจึงไม่เป็นที่นิยมของคนไทยในยุคนั้นแต่ถ้าจะว่ากันไปแล้วไอ้รูปทรงเหลี่ยมๆที่ดูเทอะทะและรูปร่างใหญ่โตในตอนนั้นมันพึ่งจะมาได้รับความนิยมเมื่อไม่นานนี้เอง อีกอย่างก็คือเครื่องยนต์ของ วีเอ็มซี ที่จ้างบริษัทชั้นนำในอิตาลีออกแบบและประกอบซึ่งดัดแปรงมาจากเครื่องยนต์ที่วางในรถเก๋งซีดานยี่ห้อหรูของอิตาลีเลยทีเดียว ถ้าเทียบกับรถกระบะยี่ห้ออื่นๆในยุคนั้น วีเอ็มซี เหนือกว่าทุกยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นด้านความแรง อัตราการบริโภคน้ำมัน ที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องการปล่อยไอเสีย ที่ไม่ว่าจะเร่งเครื่องขนาดไหนก็ไม่มีควันให้เห็นเพราะใช้ปั๊มแรงดันสูงควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นระบบที่ใช้หลักการเดียวกันกับที่เรารู้จักในนามคอมมอนเรลในปัจจุบันตัวของเครื่องยนต์ยังเป็นเนื้อเดียวกับเสื้อสูบจึงสามารถรับแรงบิดได้มากกว่าและทนทานกว่าทุกยี่ห้อในยุคนั้น อีกอย่างก็คือเครื่องเดินเรียบและเงียบกว่ายี่ห้ออื่นๆ มีช่วงล่างที่บึกบึนแกร่งเหนือกว่าใครทั้งหมดแต่แฝงไว้ด้วยการยึดเกาะที่หนึบหนับแถมนุ่มนวล ห้องโดยสารก็ถูกออกแบบให้มีขนาดกว้างนั่งสบายในแบบเก๋งไม่ว่าจะเป็นรุ่นมาตรฐาน รุ่นมีแค็ปหรือแม้แต่รุ่น4 ประตูที่ยี่ห้ออื่นๆต้องทำตามหลังจากนั้นอีก 2 ปีเลยทีเดียว!! และที่ประทับใจอีกอย่างก็คือวัสดุทุกชิ้นที่ใช้ประกอบล้วนเป็นวัสดุชั้นดีทั้งสิ้น

น่าเสียดายและน่าเสียใจรถกระบะที่คิดค้นและลงทุนโดยคนไทย ออกแบบเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ ถ้าเทียบกับยี่ห้อของต่างชาติในยุคนั้นแล้ว วี.เอ็ม.ซี มีคุณภาพก็เหนือกว่า ทนทานกว่า แบกน้ำหนักได้มากว่า ซึ่งถ้านำมาเทียบกับปัจจุบันแล้วยังเหนือกว่าหลายๆยี่ห้อด้วยซ้ำไป แถมเคาะราคาไว้ก็ถูกกว่ายี่ห้ออื่นเกือบแสนเลยทีเดียว แต่เนื่องจากความรีบร้อนหรืออาจจะเรียกได้ว่าการวางแผนที่ผิดพลาดที่เร่งเปิดตัวในสภาพที่ไม่เรียบร้อยดีและความพร้อมของศูนย์บริการก็ยังไม่มี แถมการประชาสัมพันธ์ก็น้อย จึงทำให้เกิดภาพลบในสายตาคนไทยตั้งแต่เริ่มต้น ในที่สุดโลโก้นี้ก็เลือนหายไปภายในระยะเวลาแค่เพียงปีเดียว บางครั้งก็เห็นมีวิ่งบ้างตามถนนแต่ก็ไม่มีใครรู้เลยว่ามันเป็นรถของคนไทย ซึ่งถ้าใครเห็นล้วนถามไถ่ว่าเป็นกระบะยี่ห้อหรูจากชาติไหน? เพราะมันถูกมองว่าแปลกตา แต่ยากต่อการยอมรับในยุค 1995 แต่ในลักษณะเดียวกันมันกลับถูกยอมรับในภาพลักษณ์นี้หลังปี 2000 แสดงว่า วี.เอ็ม.ซี ล้ำหน้ากว่าชาวบ้านเขาทุกยี่ห้อเกือบ 10 ปี นี่ซิ! ฝีมือคนไทย”


และคนไทยไม่ใช่สามารถผลิตรถยนต์ 4 ล้อได้เท่านั้น แต่ยังสามารถผลิตรถมอเตอร์ไซค์ ออกจำหน่ายได้อีกด้วย ภายใต้ชื่อแบรนด์ Tiger ที่จะเห็นได้ในหมู่คนสีกากี ความเป็นมาของจักรยานยนต์ ไทเกอร์ 2 ล้อ โดยคนไทยเพื่อคนไทย เริ่มขึ้นมา 10 กว่าแล้ว เมื่อมีกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนจักรยานยนต์ในประเทศไทย เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ ในการจับชิ้นส่วนต่างๆ รวมเป็นรถมอเตอร์ไซค์ 1 คัน ก่อนที่ จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน Motor Show ครั้งที่ 23 แต่ก็ประสบปัญหาหลายๆอย่างและเงียบหายไปในที่สุด

                ต้องยอมรับครับว่าคนบ้านเราเก่ง มีความรู้ มีความสามารถ อย่างเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำได้ แต่การเกิดเป็นกลุ่มเล็กๆนั้น ไม่ได้ช่วยให้คนไทยแข็งแกร่งพอที่จะมีรถยนต์เป็นแบรนด์ของตัวเองได้ หากแต่พวกเราต้องช่วยกัน หรือได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และพลังของคนในชาติ สุดท้ายนี้ผมก็ยังคงมีความหวังว่าจะได้เห็นรถยนต์ของคนไทยที่สามารถเชิดหน้าชูตาได้อย่างไม่อายใคร ไม่ว่าจะไปมุมไหนของโลก ทุกครั้งที่เห็นรถยนต์ของคนไทย มันก็เหมือนเป็นอีกสัญลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น และภาคภูมิใจ (ถึงแม้หนทางมันจะริบหรี่ก็ตาม..!!

ติดตามข่าวสารยานยนต์ได้บนแฟนเพจ MZ Crazy Cars คลิกที่นี่
**************************************
ข้อมูลประกอบบทความ
http://auto.sanook.com/1563/
https://blog.eduzones.com/cars/12541

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 มกราคม 2559 เวลา 10:04

    เขียนได้ดีครับ ความรู้ใหม่เพียบ เป็นกำลังใจให้คนไทยที่จะทำอะไรเพื่อคนไทยครับ....จากคนโรงงานยานยนต์

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ31 พฤษภาคม 2561 เวลา 07:45

    สงสัยว่า บริษัทรถยนต์ที่ผลิตรถดี่เยี่ยมอันนั้น ทำไมไม่เอาข้อบกพร่องจากภาพลบนั้นมาปรับปรุงล่ะคะ ทำไมถึงเลือนหายไป

    ตอบลบ